วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555
เรื่องเล่าวัดเกต : สะพานจันทร์สม
แม่น้ำปิง เป็นแม่น้ำที่ผ่านกลางเมืองเชียงใหม่ การข้ามแม่น้ำแม่ปิงด้วยสะพานหลักๆ คือ สะพานนวรัฐ, สะพานนครพิงค์, สะพานเม็งราย, สะพานรัตนโกสินทร์ ซึ่งสะพานเหล่านี้รถแล่นข้ามได้ ส่วนอีกสะพานหนึ่งเป็นสะพานสำหรับเดินข้ามที่สำคัญต่อชีวิตจิตใจ ของผู้คนของเมืองเชียงใหม่ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรียกกันว่า “สะพานจันทร์สม”
สะพานจันทร์สม เดิมคงไม่มีชื่อ จึงเรียกกันว่า “ขัวกุลา” หรือ “ขัวเก่า” มีประวัติว่าสร้างโดยนายชีค (Cheek) เป็นมิชชันนารี สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๑ สมัยพระเจ้าอินวิชชยานนท์ ต่อมาได้พังลงเพราะกระแสน้ำ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ (คำบรรยายใต้ภาพขัวเก่าจากหนังสือ ประชุมภาพประวัติศาสตร์ทหารและตำรวจ, สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๒๕)
คุณป้าซิวเฮียง โจลานันท์ อายุ ๘๔ ปี เกิด พ.ศ.๒๔๕๙ บ้านอยู่ร้านวิศาลบรรณาคารบอกว่า “ทันเห็นขัวเก่าตั้งแต่เด็กแล้ว สะพานนี้เป็นสะพานไม้สักขนาดใหญ่ กว้างพอๆกับสะพานนวรัฐขณะนั้น เสาก็เป็นไม้สัก ขนาดใหญ่เช่นกัน ในหน้าน้ำหลากจะมีไม้ซุงล่องมา ไม้ซุงขนาดสั้นสามารถลอด ผ่านเสาสะพานไปได้ แต่ท่อนยาวจะติดอยู่ติดต่อเนื่องกันไปจนถึงเจดีย์ขาว เด็กๆ จะสนุกกับการขี่ไม้ซุงล่องไปจนถึงท่าน้ำโรงพักแม่ปิง แล้วก็ขึ้นฝั่งวิ่งกลับมากระโดดจากสะพานขี่ซุงอีกเป็นที่สนุกสนาน ตอนเรียนโรงเรียนดาราวิทยาลัย สมัยแรกที่ตั้งอยู่บริเวณคริสตจักรตีนสะพานนวรัฐก็ขี่จักรยานข้ามสะพานนี้ไปโรงเรียน เมื่อยังไม่มีการสร้างถนนเลียบน้ำปิงที่ตลาดต้นลำไย ปลายสะพานจะยาวมาเกือบถึงร้านวิศาลบรรณาคาร เนื่องจากเมื่อก่อนแม่น้ำปิงกว้างมาก เกือบถึงบ้าน ด้านหลังบ้านจะมีท่าน้ำ ต่อมาเมื่อสร้างถนนเลียบน้ำปิง จึงต้องตัดสะพานออกส่วนหนึ่งดังที่เห็นทุกวันนี้
ประมาณ พ.ศ.๒๔๘๓ มีการรื้อสะพานเก่า เนื่องจากไม้เก่าผุ คาดว่าสมัยหลวงชมา เป็นหัวหน้าสุขาภิบาลเชียงใหม่ ส่วนรองหัวหน้า คือ ขุนโปไล สมัยนั้นยังไม่มีเทศบาล บริเวณที่เป็นเทศบาลในปัจจุบัน ในอดีตเป็นอาคารไม้หลังใหญ่เป็นที่ทำการของเทศาภิบาล คือ พระองค์เจ้าบวรเดช ต่อมาเมื่อหมดยุคเทศาภิบาล บ้านหลังนี้ก็ร้างและรื้อในที่สุด กลายให้เป็นที่รกร้าง เรียกกันว่า สวนห่าง คือ เป็นสวนเป็นป่าที่ร้าง ไม่มีคนอยู่ ถัดมาทางด้านใต้ คือ คุ้มที่เจ้าดารารัศมีประทับอยู่ปัจจุบัน คือ กงสุลอเมริกัน ถัดมาคือ คุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐในตลาด สมัยอายุ ๘ ขวบ ๙ ขวบ (พ.ศ.๒๔๖๔) เคยวิ่งเข้าออกคุ้มนวรัฐเป็นประจำ ดูการซ้อมละครในเวลากลางคืน กลางวันก็มีการซ้อมฟ้อน เพื่อนรุ่นเดียวกันที่เป็นนักฟ้อน มี คุณนวลฉวี เสนาคำ, คุณบ๊วย หรือสัมพันธ์ โชตนา ภรรยาของคุณทิม โชตนา
เมื่อรื้อสะพาน “ขัวเก่า” แล้ว ทำให้ชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำปิงลำบากมากในการสัญจรติดต่อซื้อขาย และแวะเยี่ยมเยียนกัน สมัยนั้นยังไม่มีสะพานนครพิงค์ การเดินไปข้ามสะพานนวรัฐก็ถือว่าไกล ทางเทศบาลเชียงใหม่จึงมีการสร้างเป็นสะพานชั่วคราว สร้างด้วยไม้ไผ่ทั้งที่เป็นเสา เป็นพื้นสะพานและเป็นคอกสะพานสองด้าน เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า ขัวแตะ หมายถึงนำไม้ไผ่มาสานเข้าด้วยกัน สะพานขัวแตะที่ทำด้วยไม้ไผ่นี้ จะใช้การได้เฉพาะหน้าแล้งเท่านั้น ในหน้าฝนที่น้ำหลากจากทางเหนือ น้ำจะแรงและพ่อค้าไม้จะล่องซุงมาตามแม่น้ำปิง ซุงขนาดใหญ่ แต่ละท่อนจะปะทะเสาสะพานจนพัง ใช้การไม่ได้ ในหน้าฝนนี้ ชาวบ้านจึงต้องใช้การเดินทางโดยเรือข้ามฟากแทน เป็นเรือของลุงหนาน บ้านอยู่ใกล้วัดเกตุฯนั้นเอง ค่าโดยสารครั้งละ ๒ สลึง เรือมีอยู่ ๔ ลำ คนถ่อ ๑ คน บังคับด้านท้าย ๑ คน หากน้ำไหลเชี่ยวต้องใช้คนบังคับท้ายถึง ๒คน (นายห้างจรัญ ชวาลา, สัมภาษณ์)
ต่อมามีผู้บริจาคเงินให้เทศบาลเชียงใหม่ สร้างสะพานคอนกรีตถาวรแทนสะพานขัวแตะ ผู้บริจาค คือ คุณโมตีราม โกราน่า ชาวอินเดียที่ประกอบอาชีพค้าขายผ้าในเชียงใหม่ เรียกกันว่า “นายห้างโมตี” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น นายมนตรี โกศลาภิรมย์ (เสียชีวิตแล้ว) เจ้าของกิจการร้านขายผ้า เชียงใหม่สโตร์ ซึ่งเป็นร้านขายผ้าที่ใหญ่และมีชื่อในสมัยก่อน นายมนตรีฯ ได้ชื่อว่าขยันหมั่นเพียรมาก เมื่ออพยพมาอยู่เชียงใหม่ เริ่มนำผ้าสำหรับตัดเสื้อเดินเร่ขาย ตามบ้านร้านตลาด ต่อมาจึงขี่จักรยานตระเวนขายตามหมู่บ้านอำเภอรอบนอก จนมีกำไรมากขึ้น จึงมาเช่าห้องแถวขายผ้าในตลาดวโรรส เมื่อทำกำไรมากขึ้น ย้ายไปเช่าห้องแถวของเจ้าแก้วนวรัฐ ห้องแถวดังกล่าวอยู่แถวบริเวณร้านเชียงใหม่ใจดี
ถนนช้างม่อยในปัจจุบัน สมัยก่อนเป็นห้องแถวไม้อยู่ด้านหน้าของคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ ต่อมาเมื่อมีการขายคุ้มให้เถ้าแก่โอ้ว ห้องแถวแถวนั้นถูกรื้อสร้างตึกแถว นายมนตรีฯจึงย้ายมาซื้อห้องแถวอยู่จุดตรงร้านทองตั๊กเซ่งล้งในปัจจุบัน จนปี พ.ศ.๒๕๑๑ เกิดไฟไหม้ใหญ่ จึงย้ายไปอยู่ที่บ้าน ช่วงตระเวนนำผ้าบรรทุกท้ายรถจักรยานขายต่างอำเภอเรื่อยไปนี้เอง ช่วงที่ไปขายที่บ้านแม่ก๊ะ อำเภอสันกำแพง ซึ่งหมู่บ้านนี้มีชื่อเสียงในการทอผ้าในอดีตนายห้างโมตีได้พบรักกับสาวแม่ก๊ะ นามว่า คุณจันทร์สม และได้แต่งงานกันในที่สุด (คุณซิวเฮียง โจลานันท์, สัมภาษณ์)
เหตุผลที่ร้านผ้าเชียงใหม่สโตร์ของคุณมนตรี ขายทำกำไรได้มาก จนว่ากันว่าฐานะร่ำรวยที่สุดสำหรับชาวอินเดียในเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากลูกค้าที่ซื้อสินค้าจากคุณมนตรีฯ จะได้รับการเอาใจใส่อย่างดีจากคุณมนตรีฯ ชาวเขาส่วนใหญ่ที่ลงจากดอยมักเป็นลูกค้าของคุณมนตรีฯ คุณมนตรีฯเอาใจใส่ถึงกับจัดที่พักและอาหารสำหรับชาวเขา ที่เป็นลูกค้าที่ห้องแถวของตัวเองที่ถนนท้ายวังที่เป็นคิวรถเวียงกาหลงทุกวันนี้ บ้านแห่งนี้เรียกกันในหมู่ชาวตลาดว่า “บ้านสโตร์” เป็นที่ชื่นชอบของชาวเขามาก หากถามชาวเขาว่าซื้อผ้าที่ไหน คำตอบ คือ “สโตร์” รู้กันว่า คือ ร้านเชียงใหม่สโตร์ของคุณมนตรีฯ นอกจากนี้คุณมนตรีฯ ยังมีความสามารถในการเลือกผ้าที่มีคุณภาพและนำจำหน่ายให้เจ้านายฝ่ายเหนือของเชียงใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อถือและเป็นลูกค้าของคุณมนตรีฯเป็นส่วนใหญ่อีกด้วย (คุณจรัญ ชวาลา, สัมภาษณ์)
ในยุคนั้นคุณมนตรีฯ จึงได้ชื่อว่าร่ำรวยที่สุดในหมู่ชาวไทยอินเดียของเชียงใหม่ แต่ก็ได้ชื่อว่าทำตัวสมถะที่สุดเช่นกัน แต่งกายธรรมดาไม่หรูหราฟุ่มเฟือย ไปไหนต่อไหนก็พาหนะรถจักรยานมาตลอด แม้ขณะร่ำรวยแล้วก็ทำตัวธรรมดาเช่นเดิม ไม่เคยใช้รถยนต์เหมือนคนอื่นๆ
“สะพานจันทร์สม” มีการก่อสร้างแทน “ขัวแตะ” ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๗ หลังจากนางจัทร์สม ภรรยาของคุณมนตรีฯ เสียชีวิตแล้วไม่นาน (เสียชีวิตวันที่ ๙ พ.ค.๒๕๐๗) คุณมนตรีฯซึ่งเคยใช้สะพานข้ามแม่น้ำปิงมาตลอดและเห็นความลำบากของชาวบ้านที่เดือดร้อนในหน้าน้ำหลาก และต้องเสียเงินข้ามเรือ อีกทั้งต้องการทำบุญให้นางจันทร์สม จึงบริจาคเงินรวม ๒ แสนบาท ให้ทางเทศบาลเชียงใหม่ เพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิงแทนสะพานขัวแตะ สมัยนั้นนายกเทศมนตรี คือ หลวงศรีประกาศ แต่เงินไม่พอเพราะค่าก่อสร้างรวม ๓ แสนบาท หลวงศรีประกาศจึงเรี่ยไรรับบริจาคจากชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป ได้อีก ๑ แสนบาท เพียงพอสำหรับค่าก่อสร้าง จึงตั้งชื่อสะพานเป็นอนุสรณ์ต่อความรัก ว่า “สะพานจันทร์สมอนุสรณ์”หลังจากสร้างสะพานแล้ว ชาวบ้านจะเห็นคุณมนตรีฯ เดินเล่นไปมาบนสะพานนี้แทบทุกเย็น
การทำสะพานจันทร์สมของนายห้างโมตี ถือว่าคุ้มค่า นอกเหนือจากเป็นการระลึกถึงภรรยาและเชิดชูนาม “จันทร์สม”แล้ว ยังเกิดกุศลมหาศาล ได้ประโยชน์กับผู้อื่นโดยแท้จริง และกุศลประโยชน์นี้จะอยู่ไปอีกเป็นร้อยปี น่าเป็นตัวอย่างสำหรับผู้คิดทำความดีลักษณะนี้ ไม่ต่างจากในอดีตที่ พ.ต.ต.เจ้าไชยวรเชษฐ์ (มงคลสวัสดิ์ ณ เชียงใหม่) ที่สร้างโรงเรียนวรเชษฐ์ ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ ในอนาคตมีการพูดคุยกันเรื่องการสร้างสะพานเดินข้ามแม่น้ำปิงที่ด้านหลังโรงเรียนมงฟอร์ตประถม สำหรับนักเรียนโรงเรียนมงฟอร์ต, พระหฤทัย, เรยินา และชัยโรจน์ ที่จะเดินข้ามมาเรียน โดยไม่ต้องให้ผู้ปกครองนำรถมาส่งที่ถนนเจริญประเทศ เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหาควันพิษ เชื่อว่าจะเป็นสะพานที่ทรงคุณค่าและมีเรื่องเล่าขานให้ลูกหลานฟังอีกสะพานหนึ่ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สะพานจันทร์สม สะพานแห่งความรัก : http://muslimchiangmai.net/index.php?topic=1566.0;wap2
ขอขอบคุณรูปภาพจาก
http://library.cmu.ac.th/ntic/picturelanna/detail_picturelanna.php?picture_id=1600
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)